เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 7. เทวตาวรรค 4. สังคณิการามสูตร
4. สังคณิการามสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
[68] ภิกษุทั้งหลาย
1. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่1 ยินดีการคลุกคลี
ด้วยหมู่ ประกอบความชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ เป็นผู้ชอบคณะ2
ยินดีในคณะ ประกอบความยินดีในคณะ จักยินดีในปวิเวก3ตาม
ลำพังได้
2. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ยินดีในปวิเวกตามลำพังจักถือเอานิมิต
แห่งจิต4ได้
3. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่ถือเอานิมิตแห่งจิต จักบำเพ็ญสัมมาทิฏฐิ5
ให้บริบูรณ์ได้
4. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
สัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้
5. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ไม่บำเพ็ญสัมมาสมาธิ6ให้บริบูรณ์แล้ว จักละ
สังโยชน์ได้
6. เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุผู้ยังละสังโยชน์ไม่ได้แล้ว จักทำให้แจ้งนิพพานได้
ภิกษุทั้งหลาย
1. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ไม่ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ยินดีการคลุกคลี
ด้วยหมู่ ไม่ประกอบความชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ ไม่ชอบคณะ

เชิงอรรถ :
1 คลุกคลีด้วยหมู่ หมายถึงคลุกคลีด้วยหมู่คณะของตน (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/68-69/174)
2 ชอบคณะ (คณาราโม) หมายถึงชอบคลุกคลีกับคนทั่วไป (องฺ.ฉกฺก.ฏีกา 3/68-69/174)
3 ปวิเวก ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก (ความสงัดทางกาย) (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/68/151)
4 นิมิตแห่งจิต หมายถึงอาการซึ่งเป็นนิมิตแห่งสมาธิและวิปัสสนา (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/68/151)
5 ดูเชิงอรรถที่ 4 ปัญจกนิบาต ข้อ 21 หน้า 24 ในเล่มนี้
6 ดูเชิงอรรถที่ 1 ปัญจกนิบาต ข้อ 21 หน้า 25 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :587 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 7. เทวตาวรรค 5. เทวตาสูตร
ไม่ยินดีในคณะ ไม่ประกอบความยินดีในคณะ จักยินดีในปวิเวก
ตามลำพังได้
2. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ยินดีในปวิเวกตามลำพัง จักถือเอานิมิตแห่งจิตได้
3. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ถือเอานิมิตแห่งจิต จักบำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์
ได้
4. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้บำเพ็ญสัมมาทิฏฐิให้บริบูรณ์แล้ว จักบำเพ็ญ
สัมมาสมาธิให้บริบูรณ์ได้
5. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้บำเพ็ญสัมมาสมาธิให้บริบูรณ์แล้ว จักละสังโยชน์ได้
6. เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ละสังโยชน์ได้แล้ว จักทำให้แจ้งนิพพานได้
สังคณิการามสูตรที่ 4 จบ
5. เทวตาสูตร
ว่าด้วยเทวดาแสดงธรรม
[69] ครั้งนั้น เมื่อราตรีผ่านไป เทวดาตนหนึ่งมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่ง
รัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม 6 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม
แก่ภิกษุ
ธรรม 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา
2. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม
3. ความเป็นผู้มีความเคารพในพระสงฆ์
4. ความเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา
5. ความเป็นผู้ว่าง่าย
6. ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร(มิตรดี)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 22 หน้า :588 }